“คดีสิ่งแวดล้อม”หมายความว่า
1.คดีแพ่งที่การกระทำตามคำฟ้องก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์อันเนื่องมาจากการทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสภาพทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมของชุมชนหรือระบบนิเวศ
2.คดีแพ่งที่โจทก์มีคำขอให้จำเลยกระทำการหรืองดเว้นกระทำการเพื่อคุ้มครองรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมของชุมชน
3.คดีแพ่งที่โจทก์มีคำขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายเพื่อขจัดมลพิษที่เกิดขึ้นหรือฟื้นฟูสภาพแวดล้อมหรือเพื่อมูลค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่เสียไป
4.คดีแพ่งที่มีคำขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพอนามัย หรือสิทธิใดๆของโจทก์ อันเกิดจากมลพิษที่จำเลยเป็นผู้ก่อหรือต้องรับผิด
“ทรัพยากรธรรมชาติ”หมายความว่า สิ่งที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่ตามธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ สัตว์ป่า พืชป่า น้ำ อากาศ ดิน แร่ธาตุ และพลังงานตามธรรมชิต
“สิ่งแวดล้อม” หมายความว่า สิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
“มลพิษ” หมายความว่า มลพิษตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
เมื่อปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญต่อสาธารณชนและมีผลกระทบต่อประโยชน์และความสงบเรียบร้อยในสังคม คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม(กบศ.)จึงประกาศจัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลแพ่งเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ
คดีสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในเขตอำนาจศาลแพ่ง ได้แก่
1.คดีสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในเขตศาลแพ่ง
2.คดีสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นนอกจากเขตศาลแพ่งซึ่งมีความยุ่งยากซับซ้อนและศาลแพ่งรับไว้พิจารณาตามมาตรา 16 วรรคสาม แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
คดีสิ่งแวดล้อมอาจเกิดขึ้นจากการฝ่าฝืนหรือไม่ ปฏิบัติตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ พระราชบัญญัติหรือประกาศของคณะปฏิวัติ ซึ่งมีบทบัญญัติเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติหรือมลพิษ
การฟ้องคดีสิ่งแวดล้อม
โจทก์อาจเสนอคำฟ้องคดีสิ่งแวดล้อมต่อแผนกคดีสิ่งแวดล้อมของศาลแพ่งได้โดยตรง ซึ่งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมจะให้บริการตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งเสร็จคดี (One stop service)
การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม
เป็นไปตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับการดำเนินคดีสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ อาทิ ศาลพึงใช้วิธีไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเป็นหลักในการพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม โดยอาจมีผู้เชี่ยวชาญร่วมในการไกล่เกลี่ยด้วยก็ได้
กรณีมีปัญหาว่าคดีใดเป็นคดีสิ่งแวดล้อมหรือไม่ให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นหรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแล้วแต่กรณี เป็นผู้วินิจฉัย สำหรับคดีสิ่งแวดล้อมในศาลแพ่ง อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง เป็นผู้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าว
ผู้มีสิทธิฟ้องคดีสิ่งแวดล้อม ได้แก่
บุคคลที่ได้รับผลกระทบหรือถูกโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในชุมชนหรือบริเวณที่มีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมให้เสื่อมสภาพโดยผิดกฎหมาย และหมายความรวมถึงผู้เสนอคดี เพื่อขอบังคับหรือรับรองสิทธิที่จะได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งสิทธิที่จะดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติ และต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพหรือคุณภาพชีวิตของตน
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีสิ่งแวดล้อม
คดีสิ่งแวดล้อมที่เป็นคดีมีทุนทรัพย์ โจทก์ต้องชำระค่าขึ้นศาล ในอัตราตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแต่อย่างไรก็ดี ผู้ที่ไม่มีทรัพย์สินพอที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาล อาจยื่นคำร้องพร้อมคำฟ้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลได้ตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยค่าฤชาธรรมเนียม
Cr: เอกสารประชาสัมพันธ์ ศาลเพ่ง